วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระบางวัดไตรภูมิ

พระบางวัดไตรภูมิ
พระบาง เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ 1.14 เมตร) หล่อด้วยสำริด (ทองคำผสม 90 เปอร์เซ็นต์) มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง ปั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบง และหน้านาง


พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญ ๆ ของท้องถิ่น เช่น พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และพระบางจำลองวัดพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น พระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง 2 ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนือง ๆ

พระบางเดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น แต่เมื่ออันเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุณราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุนราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา



ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพเข้ายึดครองอาณาจักรล้านช้างไว้ได้ จึงได้อาราธนาพระบาง พร้อมทั้งพระแก้วมรกต ลงมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้พระราชทานพระบางคืนให้แก่ล้านช้างดังเดิม



ประวัติ

พระบางนั้นตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระจุลนาคเถระได้สร้างพระบางขึ้น เมื่อ พ.ศ. 436 ที่กรุงลังกา เมื่อหล่อสำเร็จแล้ว พระเถระเจ้าได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไว้ในองค์พระ 5 แห่ง คือ พระสอ พระนลาฏ พระชานุ พระอุระ ข้อพระกรทั้งสองข้าง เนื้อองค์พระบางมีน้ำหนักทองคำ ทองแดง และเงินถึง 52 กิโลกรัม 85 มิลลิกรัม สูง 4 คืบ (ประมาณ 1.14 เมตร) พระสุคตแต่ปลายพระเกศาถึงพระเมาลีอีก 7 นิ้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1389 พระเจ้าจันทราชแห่งอินทปัตนครได้ไปของพระบางจากพระเจ้าสุบินทราชาแห่งลังกาประเทศ มาไว้ที่กรุงอินทปัตนคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น